Slot Machine : เหนือกาลเวลา

*_*

วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation)

การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Mitigation)

การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นการบรรเทาสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทุกประเทศรวมทั้งไทยได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินการนี้

สาระสำคัญของอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ( United Nations Framework Convention on Climate Change หรือ UNFCCC) คือการร่วมมือกันลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศน้อยที่สุด โดยประเทศที่พัฒนาแล้วตามบัญชีชื่อต่อท้ายอนุสัญญาที่เรียกว่า Annex I Countries มีพันธกรณีดังกล่าว ส่วนประเทศไทยและประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลดก๊าซเรือนกระจกตามพันธกรณี

กลุ่มประเทศ Annex I มีพันธะกรณีที่จะต้องลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำกว่าการปลดปล่อยใน ค.ศ. 1990 ร้อยละ 5 ซึ่งประเทศในกลุ่ม Annex I มีข้อจำกัดในการดำเนินการดังกล่าวมาก เนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การเพิ่ม GDP สัมพันธ์กับการใช้พลังงาน ส่งผลให้การปลดปล่อยการเรือนกระจกมีปริมาณเพิ่มขึ้นในแต่ละปี ประกอบกับการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศพัฒนาแล้ว มีค่าใช้จ่ายสูงจึงมีการแสวงหาทางออกของปัญหานี้ ด้วยการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายนอกประเทศ โดยใช้ประเทศกำลังพัฒนาเป็นพื้นที่ดำเนินการ แล้วนำปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้กลับไปคิด credit ของประเทศนั้น

โครงการร่วมมือกันลดก๊าซเรือนกระจกได้แก่ Joint Implementation (JI) หรือ Clean Development Mechanism (CDM) เป็นต้น กิจกรรมของโครงการดังกล่าว เช่น การปลูกป่า การประหยัดพลังงานในภาคอุตสาหกรรมและการผลิต เป็นต้น

สรุปสถานการณ์การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยและการทำบัญชีประเมินการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆจัดอยู่ในกลุ่มประเทศ Non-Annex I ซึ่งไม่มีพันธะกรณีในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกแต่อย่างใด นอกจากนี้การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ทั้งในปริมาณการปลดปล่อยทั้งหมด และการปลดปล่อยต่อหัว

ถึงแม้ว่าในอนาคตการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยจะเพิ่มขึ้นจากการเติบโตของ GDP ซึ่งมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น และมีการเพิ่มของประชากร แต่ประเทศอื่น ๆ มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ และประชากรเช่นกัน สัดส่วนการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยในอนาคตเมื่อเปรียบเทียบกับของโลกจึงควรอยู่ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับใน ค.ศ. 1990

ประเทศไทยใช้ทรัพยากรในด้านการประเมินก๊าซเรือนกระจกมาก โดยละเลยการศึกษาวิจัยด้านอื่นของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เช่น ด้านผลกระทบ ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความเสียหายต่อประเทศโดยตรง

ศักยภาพในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย

ประเทศไทยมีศักยภาพในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากสาขาพลังงาน การกักเก็บในพื้นที่ป่าไม้ และการลดการปลดปล่อยก๊าซมีเทนจากนาข้าว การดำเนินการดังกล่าวมีกลุ่มประเทศ Annex I พร้อมทั้งมีทุนจากต่างประเทศ เช่น World Bank, Global Environmental Facility (GEF) สนับสนุนในการดำเนินการ แต่ประเทศไทยจะต้องพิจารณาให้รอบคอบในการดำเนินการโครงการร่วมมือกับต่างประเทศในด้านดังกล่าว เนื่องจากมีข้อจำกัดและรายละเอียดปลีกย่อยที่จำเป็นต้องศึกษาให้ชัดเจน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น